
คู่มือลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้า Defensive Stock ยอดฮิตเมืองไทย
หุ้นโรงไฟฟ้าเคยเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมมาก จากการเติบโตที่รวดเร็ว ทั้งในแง่จำนวนบริษัท และมูลค่ากิจการที่ขยับขึ้นมามีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยเยอะขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้หลายปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้ากลายเป็น sector ดาวเด่นที่ใครๆ ก็ต้องศึกษา แต่สำหรับใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของหุ้นกลุ่มนี้ ลองมาดูไปพร้อมๆ กัน
จุดเด่นของหุ้นโรงไฟฟ้า
1. รับรู้รายได้แน่นอน: ธุรกิจโรงไฟฟ้ามักมีสัญญาซื้อขายไฟชัดเจน และทำล่วงหน้าเป็นระยะยาว จึงมั่นใจได้ว่าในแต่ละปีบริษัทจะมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่
2. ไม่ค่อยผันผวนมาก: ด้วยรายได้และกำไรของโรงไฟฟ้ามีความสม่ำเสมอ ไม่ค่อยผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ จึงถูกยกให้เป็นหนึ่งในหุ้น “หลบภัย” หรือ Defensive stock ยามตลาดผันผวน
3. จ่ายปันผลในระดับสูง: ด้วยธรรมชาติของโรงไฟฟ้าที่สร้างกระแสเงินสดกลับมาต่อเนื่อง เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทำให้ภาพรวมแล้วหุ้นโรงไฟฟ้าจึงเป็นกลุ่มที่จ่ายปันผลสูงและสม่ำเสมอ
4. ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น: เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราขาดไม่ได้ และสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เห็นได้ชัดจากปริมาณการใช้ไฟในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นทุกปี
5. พลังงานสะอาดคือเมกะเทรนด์: เทรนด์พลังงานสะอาด เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาได้สักพัก ซึ่งเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นจากนโยบายพลังงานของหลายประเทศที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต
จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าตามเชื้อเพลิงการผลิต
เราสามารถแบ่งประเภทโรงไฟฟ้า ออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ตามเชื้อเพลิงการผลิต ได้แก่
- โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม: ใช้พลังงานจากฟอสซิล มักมีขนาดใหญ่ กำลังผลิตสูง สัญญาซื้อขายระยะยาว เช่น ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน, นิวเคลียร์, น้ำมันเตา
- โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน: ใช้พลังงานสะอาดที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่มักมีกำลังผลิตน้อย และมีความเสถียรน้อย เช่น แสงอาทิตย์, ลม, น้ำ, ชีวมวล, ขยะ, ความร้อนใต้พิภพ
หุ้นโรงไฟฟ้า ต้องวิเคราะห์อะไรบ้าง?
1. ขนาดโรงไฟฟ้า: กลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนจะแบ่งขนาดโรงไฟฟ้าออกเป็น 3 ขนาดตามกำลังการผลิต ได้แก่
– IPP โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ กำลังผลิต > 90 MW
– SPP โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก กำลังผลิต 10 – 90 MW
– VSPP โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก กำลังผลิต < 10 MW
2. สัญญาซื้อขายไฟ: เมื่อรายได้หลักของโรงไฟฟ้ามาจากสัญญาระยะยาว ดังนั้น เราควรรู้ว่าสัญญารายได้นั้นเป็นแบบไหน ลูกค้าเป็นใคร และมี IRR (อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน) ปีละเท่าไหร่
นอกจากนี้ หากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อาจจะต้องเช็กด้วยว่ามีสัญญาเป็นแบบ ADDER หรือ Feed in Tariff ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
3. กำลังการผลิต: กำลังผลิตไฟฟ้าเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงขนาดธุรกิจ รวมถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เรื่องที่ควรรู้ นั่นคือ
– วันที่ COD หมายถึง วันที่โรงไฟฟ้าเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือพูดง่ายๆ คือวันที่เริ่มขายไฟและมีรายได้เข้าบริษัทนั่นเอง
– Utlilitzation rate อัตราการใช้กำลังผลิตโรงไฟฟ้า เป็นการบอกว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยิ่งมากก็ยิ่งดี
4. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP): แผน PDP นับเป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตธุรกิจโรงไฟฟ้าได้เลย เพราะเป็นแผนที่บอกว่าในแต่ละปีจะมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าเท่าไหร่ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชนิดไหนบ้าง และในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าแบบไหนจะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
ความเสี่ยงหุ้นโรงไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี หุ้นโรงไฟฟ้าก็มีความเสี่ยงที่ต้องระวัง ทั้งในแง่ของการพึ่งพานโยบายพลังงานจากภาครัฐ ซึ่งมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอัตราค่าไฟที่รับซื้อในอนาคต
อีกทั้งโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนเพิ่มตลอดเวลา เพราะโรงไฟฟ้าจะโตได้ ก็ด้วยกำลังการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งมีทางเลือกคือการลงทุนเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้า หรือไปควบรวมกิจการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกระแสเงินสด เพื่อลงทุนอยู่ตลอดเวลา หากอยากจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
Opportunity for Investment : คัดสรรโอกาสการลงทุน เพื่อ “นักลงทุน”
คว้าโอกาสการลงทุน ที่นักลงทุนควรได้รับรู้ และทุกข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน การลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะเป็นเครื่องมือ ชี้วัดความสำเร็จ และการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต…
กดติดตามช่องทางการรับชม เพื่อได้รับข้อมูลที่น่าสนใจ…
FACEBOOK : https://web.facebook.com/finnomenaopportunity